
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ ร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลอาหารและเครื่องดื่มเพื่อชาว ม.อ. ตอบโจทย์คนยุคใหม่ พร้อมส่งเสริมนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ร่วมพัฒนาธุรกิจ บูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ ฝึกการทำงานจริง |
ปัจจุบันการบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET จัดทำโครงการ Local life สร้าง Application food delivery เพื่อเป็นสื่อกลางในการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ขาย หรือร้านค้า และผู้ซื้อทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนบุคคลภายนอก และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างโอกาสการหารายได้ระหว่างเรียนของนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือนักศึกษาที่อยากหารายได้เสริม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัฐดา จิเบ็ญจะ รองคณบดีฝ่ายกิจการภายในและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการ Local life เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง Application food delivery ให้นักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถสั่งอาหารออนไลน์ได้ ส่งเสริมการเรียนรู้ บูรณาการศาสตร์ ฝึกการทำงานจริงของนักศึกษา ตลอดจนสร้างโอกาสหารายได้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากการเป็นผู้ส่งอาหารและเครื่องดื่ม หรือ Rider โดยมีบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET เป็นบริษัทพี่เลี้ยง | ![]() |

![]() |
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธิดา สุวรรณโณ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาองค์กร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า Local life เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมกันบริหาร ซึ่งจะมีการวางแผนร่วมกัน ตั้งแต่การสำรวจร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนักศึกษาสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ และการสำรวจตลาด โดยนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ และมีบริษัท INET เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชัน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการผลตอบรับค่อนข้างดี มียอดการสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง นักศึกษาที่เป็นไรเดอร์มีรายได้จากการส่งอาหารวันละ 400-500 บาท แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการเรียนและการสอบของนักศึกษา ทำให้ไม่สามารถส่งอาหารได้ต่อเนื่อง จึงเปิดรับไรเดอร์รูปแบบ Full Time ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามารองรับ |
“ขอบคุณ INET ที่ช่วยสนับสนุนและเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักศึกษาในการหาความรู้จากประสบการณ์การการทำงานจริง โครงการ Local life ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ใน ม.อ. และอาจจะต่อยอดต่อไปในหลายๆ คณะที่สนใจ และยังสามารถใช้ได้ทั้ง 5 วิทยาเขตอีกด้วย” |

ขณะที่ นายสุรพงษ์ การะเกต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนงาน SMEs Platform บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Local life มีบริการทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 1. สั่งอาหาร 2. ค้นหาที่พัก 3. สินค้าเกษตร 4. นัดหาหมอ ปัจจุบันมีร้านค้าทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการกว่า 200 ร้าน มีผู้ประกอบการเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 10 ราย มีสินค้าเกษตรทั้งหมดกว่า 300 รายการ และยังคงพัฒนาบริการต่างๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงจะเปิดรับนักศึกษาในตำแหน่ง Business Platform Designer เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจรายย่อยและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่การดูแลผลประกอบการ จัดทำกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย การประชาสัมพันธ์และจัดโปรโมชั่น ตลอดจนดูแลคุณภาพของสินค้า Local life ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยเหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมนักศึกษาให้ได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย |
![]() |





