
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยคณะการบริการและการท่องเที่ยว ร่วมกับ เทศบาลนครภูเก็ต ขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ภายใต้โครงการ “Phuket City of Gastronomy of UNESCO” พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต |
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้รับจัดสรรงบประมาณจากทางเทศบาลนครภูเก็ต ดำเนินโครงการ "Phuket City of Gastronomy of UNESCO" เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม ขับเคลื่อน และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตติยาพร จารุมณีรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการการบริการ คณะการบริการและการท่องเที่ยว เป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษา ทั้งนี้ อาจารย์กฤษณ์ สินเจริญกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถของชุมชนต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของ UNESCO เพื่อรักษา และต่อยอดความเป็นเมืองเครือข่าย อาทิ การจัดกิจกรรมให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ชุมชนกมลา ชุมชนม่าหนิก และชุมชนบ่อแร่

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับเชฟผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ เชฟหน่อย ธรรมศักดิ์ จินดาพล ชูทอง เจ้าของร้าน ‘Suay’ เซเลบริตี้เชฟแห่งเกาะภูเก็ต ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ผู้คิดค้นเมนูอาหารคาวจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ประกอบด้วย กระเจี๊ยบเขียว ปลาตะมะ และหอยหวาน กลายมาเป็น กระเจี๊ยบเขียวทอดกรอบหมาล่า ปลาตะมะหมกหัวปลี และผัดไทยหอยหวาน และเชฟต้น ธนิต เล็กศิริ เชฟผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารหวาน ผู้คิดค้นเมนูอาหารหวานจากวัตถุดิบท้องถิ่นเช่นกัน อาทิ นำตะลิงปลิงมาสร้างสรรค์เป็นคุกกี้พายตะลิงปลิง และทาร์ตครีมตะลิงปลิง พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะฯ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมการทำอาหารเมนูดังกล่าวให้กับชาวบ้านทั้ง 4 ชุมชน ณ ห้องปฏิบัติการครัว เพื่อส่งมอบสูตรอาหารดังกล่าวให้กับชุมชนได้นำไปต่อยอด พัฒนา และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คณะการบริการและการท่องเที่ยว วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมต่างๆ ต่อไป อาทิ การนำสมาชิกของชุมชนต่างๆ ไปศึกษาดูงานรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจในการจัดท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง และเชื่อมโยงกับเส้นทางอาหารสร้างสรรค์ที่ได้เรียนรู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นจะจัดให้มีงานแถลงข่าวเปิดตัวเมนูอาหารหวานคาวชนิดใหม่นี้ พร้อมกับวิถีชีวิตการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปพร้อมกันอีกด้วย



