
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีและศูนย์แม่ข่ายประสาน อพ.สธ. ภาคใต้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล จัดโครงการ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบูรณาการนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อร่วมกันศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในถ้ำของอุทยานธรณีโลกสตูล โดยเน้นถ้ำที่เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (อำเภอทุ่งหว้า) ถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ (อำเภอละงู) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ไกด์ท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จำนวน 56 คน เมื่อวันที่ 8 – 10 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา |

สำหรับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข หัวหน้าโครงการ, ดร.โสภาค จันทฤทธิ์, ดร.เอกนรินทร์ รอดเจริญ, ดร.พรรณี สอาดฤทธิ์, ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ, นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ, นางณัฐรดา มิตรปวงชน และ นางสาวอวัศยา พิมสาย
![]() |
ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทีมวิจัยสำรวจพบสัตว์มีกระดูกสันหลัง 67 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 31 ชนิด นก 11 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด และปลา 14 ชนิด โดยสัตว์กลุ่มเด่นคือค้างคาวที่พบมากที่สุดจำนวน 14 ชนิด หนึ่งในนั้นมีชนิดที่มีสถานภาพมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ถิ่นเดียว (endemic species) ของไทย คือ ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ |
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่น้อยกว่า 197 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มแมง 29 ชนิด แมลง 115 ชนิด กิ้งกือ / ตะขาบ11 ชนิด แพลงก์ตอนสัตว์ 13 ชนิด กุ้ง/ปู 14 ชนิด ไอโซพอดและสัตว์พื้นท้องน้ำอื่นๆ 11 ชนิด และหอย 4 ชนิด กลุ่มที่เด่นที่สุดคือสัตว์ขาข้อในกลุ่มแมงและแมลงซึ่งสัมพันธ์กับค้างคาวเนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยมูลค้างคาวเป็นแหล่งอาหาร จำนวนนี้มีชนิดที่คาดว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่อย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่ มดคอยาวด้วงถ้ำ แมลงหางดีด และแมลงสาบทะเล ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและศึกษาเทียบเคียงตัวอย่างเพิ่มเติมต่อไป

จุลินทรีย์ จากตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 110 ตัวอย่าง (จากถ้ำอุไรทอง 45 ตัวอย่าง ถ้ำทะลุ 35 ตัวอย่างและถ้ำเลสเตโกดอน 30 ตัวอย่าง) พบว่า แบคทีเรียเด่นที่พบเป็นกลุ่มแอคติโนมัยซีทในสกุล Streptomyces และสกุล Nocardia และแบคทีเรียอื่นๆ เช่น สกุล Pseudomonas และ Baciilus การศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานของแบคทีเรียที่พบภายในถ้ำซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อไปได้

“ข้อมูลจากการศึกษานี้จะมีความสำคัญทั้งเป็นการสนับสนุนในการเตรียมการประเมินซ้ำของ UNESCO ทั้งเป็นข้อมูลให้วิสาหกิจนำเที่ยวในท้องถิ่นนำไปประยุกต์เพื่อนำเสนอและดึงดูดนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว