
ศาสตราจารย์ ดร. รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับอาจารย์ ทพญ.สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ และคณะผู้ร่วมวิจัย ทำการต่อยอดการนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 ซึ่งเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ได้มาจากช่องปาก และมีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ ไปพัฒนารูปแบบเป็น ผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติกในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้ใช้ถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 10 ปี ในการศึกษาวิจัย จนได้องค์ความรู้สามารถเข้าใจธรรมชาติของ Lactobacilllus สายพันธุ์ต่าง ๆ และสามารถ จำแนกชนิดเชื้อก่อโรคและเชื้อที่นำมาเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคในช่องปากได้


ในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการนำผลิตภัณฑ์นมผงผสมโพรไบโอติก ไปทดลองใช้ในอาสาสมัคร จำนวน 2 โครงการ โครงการแรกคือ กลุ่มอาสาสมัครทั่วไป และโครงการที่สองคือกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุสูง เช่น คนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีการจัดฟัน ผลการศึกษาพบว่า ในทั้งสองโครงการ กลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับนมผงผสมโพรไบโอติกพบการลดลงของเชื้อก่อโรคฟันผุ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับนมผงทั่วไป โดยในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อฟันผุสูง จะเห็นการลดลงของเชื้อฟันผุได้ชัดเจนกว่ากลุ่มความเสี่ยงต่ำ และเชื้อ Lactobacillus paracasei SD1 สามารถคงอยู่ในช่องปากได้อย่างน้อย 1 เดือน หลังจากการได้รับนมผงผสมโพรไบโอติก นอกจากนี้ไม่พบอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ ในอาสาสมัครทั้งสองโครงการ โดยผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสารวิชาการนานาชาติแล้ว ปัจจุบัน ผู้วิจัยได้นำ โพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 มาพัฒนารูปแบบเป็นอาหารเสริมในหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค เช่น นมผง นมอัดเม็ด โยเกิร์ต และผสมในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ต่าง ๆ โดยในการนำมาผสมในเครื่องดื่มจะนำเอาหัวเชื้อมาเตรียมในรูปแบบของ microencapsulation ซึ่งมีลักษณะเป็นแคปซูลเล็กๆ คล้ายชาไข่มุก และต้องเคี้ยวเพื่อให้ตัวเชื้อได้ออกมาสัมผัสในช่องปาก การทำในรูปของแคปซูลนี้จะทำให้เชื้อสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าการผสมลงในน้ำและเครื่องดื่มโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากเตรียมผสมในรูปแบบของนมผงและโยเกิร์ตจะสามารถทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า โดยยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้เท่าเดิม

การพัฒนารูปแบบของการนำโพรไบโอติกมาใช้ให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมีทางเลือกตามความพึงพอใจ โพรไบโอติกสามารถใช้เป็นประโยชน์ได้ในคนทุกอายุ เช่นในผู้สูงอายุมักมีปัญหาของฟันผุที่ผิวรากฟัน เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาของเหงือกร่น ซึ่งมีวิจัยในต่างประเทศพบว่าโพรไบโอติกสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการนำมาใช้ตามความเหมาะสมจึงมีนัยสำคัญเช่นกัน
การวิจัยดังกล่าวข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ในการใช้โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุ นั้นมีข้อดีหลายประการ โดยกลไกการทำงานของโพรไบโอติก นั้นสามารถลดเชื้อก่อโรคฟันผุ โดยการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่ และโพรไบโอติกยังสามารถสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุโดยตรง นอกจากนี้โพรไบโอติกยังสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคด้วย กลไกดังกล่าวต่างจากการใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือสารต้านเชื้อซึ่งมีผลในการลดเชื้อเพียงอย่างเดียว และอาจมีปัญหาการดื้อต่อสารต้านเชื้อตามมาในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าฟันผุเกิดจากหลายสาเหตุ การนำ Lactobacillus ชนิดนี้ไปผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันฟันผุเป็นทางเลือกหนึ่ง ร่วมกับการดูแลรักษาสุขภาวะในช่องปาก และ พฤติกรรมการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารหวาน ที่เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคฟันผุ ดังนั้นหากสามารถลดปริมาณของเชื้อก่อโรคฟันผุ ร่วมกับการควบคุมอาหารหวานและดูแลสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอ จะทำให้การลดอัตราการเกิดฟันผุในประชากรไทยประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น
ในอนาคตมีแผนการวิจัยต่อยอดในการนำโพรไบโอติกไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสุขภาพในช่องปากได้แก่ การผสมโพรไบโอติกและฟลูออไรด์โดยคาดหวังประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าการใช้โพรไบโอติกหรือใช้ฟลูออไรด์เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้อาจเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เหมาะกับชุมชน ในท้องที่ที่มีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มสูงอาจใช้โพรไบโอติกเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ และการป้องกันการติดเชื้อราในช่องปาก ซึ่งเป็นเป้าหมายการขยายงานวิจัยของทีมงานวิจัยนี้ในอนาคตเช่นเดียวกัน และทีมงานวิจัยได้ขยายวงขึ้นโดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากต่างสถาบันเข้าร่วม ในการวิจัย ในอนาคตคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถทำให้องค์ความรู้ในการนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสุขภาพในช่องปากมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์ ดร. รวี เถียรไพศาล กล่าว

